วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Facilitator2: FILA กระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลง ตอน ทดลองใช้


ทำความรู้จักกับกระบวนการเรียนรู้จากโจทย์ปัญหาตามแบบ FILA
          กระบวนการต่อเนื่อง FILA ที่นำมาใช้นี้ เป็นกระบวนการที่ ลินดา วี (2001 อ้างใน โกสิน ราชศิลา และ สุมาลี จันทร์ชลอ, 2550 online: http://www.huso.buu.ac.th/conference/huso50) ได้คิดค้นและนำเสนอกระบวนการ 4 ขั้นตอนสำหรับการจัดการปัญหา ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีความหมายดังนี้
F (FACTS) คือ ข้อมูล/ความจริง
เป็นขั้นตอนแรกที่เป็นส่วนที่สำคัญในการระบุปัญหา(Identify Problem) ให้ชัดเจนขึ้น โดยการหาข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง/ความจริงทั้งหมดที่มีโดยจะต้องแยกแยะข้อมูลระหว่างข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็น รวมไปถึงการไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงโดยการสรุปข้อมูลที่คลุมเครือตามความคิดเห็นหรือความเข้าใจของตัวเอง
I (IDEAS) คือ ความคิด/สมมุติฐาน (Assumptions)
จากข้อเท็จจริงที่ได้รวบรวมมา ในขั้นตอนนี้จะต้อง เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อข้อมูล/ความจริงที่มีอยู่และนำไปสู่การตั้งสมมุติฐานที่ใช้ไขคำตอบของปัญหา หรือใช้สร้างวิธีการแก้ปัญหา (Solution) ที่เหมาะสมต่อไป
L (LEARNING ISSUES) คือ ประเด็นที่ต้องเรียนรู้
เมื่อได้ความคิดหรือสมมุติฐานจากขั้นตอนที่ผ่ามาแล้วแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องสำรวจว่า การจะพิสูจน์เพื่อทำการสรุปความถูกต้องของสมมุติฐานที่ได้ตั้งไว้นั้น จะต้องเรียนรู้ในเรื่องอะไรบ้างรวมทั้งการสำรวจว่า ความคิด หรือ สมมุติฐานที่ตั้งขึ้นนี้ มีกรณีศึกษาที่มีลักษณะคล้ายกันและนำมาใช้ได้หรือไม่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การดำเนินการจัดการปัญหามีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะประสบผลสำเร็จได้มากขึ้น
A (ACTION PLANS) คือ แผนปฏิบัติการ
ขั้นตอนนี้เป็นการประมวลความคิดและแนวทางที่ได้จากการเรียนรู้เพิ่มเติมมากำหนดเป็นแผนปฏิบัติการหรือแผนการดำเนินงาน (Action Plans) เพื่อจัดการปัญหาค้นหาคำตอบ ซึ่งวิธีการจะหลากหลายแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การสืบค้นข้อมูล การทำการทดลอง การสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
          กระบวนการต่อเนื่อง FILA ได้รับความนิยมนำไปใช้กันเป็นอย่างมากในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เช่น การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของสถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น
อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้ทดลองนำกระบวนการต่อเนื่อง FILA มาปรับใช้ทั้งในกิจกรรมการเรียนการสอนปกติและการนำปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนมาทดลองใช้กระบวนการ FILA ในการจัดการปัญหาดังกล่าวโดยมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

กรณีศึกษาการใช้กระบวนการ FILA ลดปริมาณขยะในตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
องค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ 220 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บนเส้นทางสายแม่จัน ท่าตอน ตลอดทั้งสาย  ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ทั่วไปขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง เป็นที่ราบลุ่มสลับกับภูเขา มีประชากรหลากหลายชนเผ่าอาศัยอยู่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร  เช่น ทำนา  ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์  และรับจ้าง ในภาคการเกษตรเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอยู่ในพื้นที่หลายแห่ง เช่น น้ำพุร้อน น้ำตก จุดชมปลาธรรมชาติ เป็นต้น ทำให้มีกิจการที่เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยว  ทั้งร้านอาหาร ที่พัก โรงแรม กระจายอยู่ทั่วทั้งพื้นที่
พื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง เป็นพื้นที่ที่เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ ประกอบกับมีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึงส่วนใหญ่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ดังนั้นจึงเกิดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคมากมาย สิ่งที่ตามมาคือสิ่งที่เหลือจากการบริโภค ซึ่งกลายเป็นขยะ ที่ขาดการจัดการอย่างเป็นระบบเกิดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษต่อร่างกาย  ประกอบกับพฤติกรรมการทิ้งขยะไม่เป็นที่และขาดความร่วมมือในการแก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะไหล่ที่เป็นเส้นทางคมนาคมสายสำคัญๆต่างๆ
กรณีศึกษานี้เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อน สำนักเขตพื้นที่การศึกษาเชียงรายเขต 3 (ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย) ที่มุ่งศึกษาแนวทางการจัดการขยะ ณ แหล่งกำเนิด ซึ่งเป็นบทเรียนจากการดำเนินการลดขยะแก้วน้ำพลาสติกในโรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อน นำมาปรับประยุกต์ใช้ลดขยะพลาสติกในชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะการจัดการขยะพลาสติกต้องใช้เวลานาน ในขณะที่ชุมชนเริ่มใช้สิ่งของที่เป็นพลาสติกมากขึ้น โดยเฉพาะถุงพลาสติก
เริ่มจากโรงเรียน
ตารางที่ 1 FILA การลดขยะแก้วน้ำพลาสติกของโรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อน
ข้อมูล/ข้อเท็จจริง
(Facts)
แนวคิด/ความคิดเห็น
(Ideas)
สิ่งที่อยากรู้
(Learning issues)
แผนปฏิบัติการ
(Action plans)
นักเรียนโรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อนส่วนใหญ่ซื้อน้ำหวานที่บรรจุในแก้วน้ำพลาสติก
ต้องดำเนินการลดแก้วน้ำพลาสติกและถุงพลาสติก
แนวทางการลดปริมาณขยะ และ         แก้วน้ำพลาสติก       ที่เหมาะสม ทำได้อย่างไร?
-  ลดขยะ และแก้วน้ำพลาสติกในภาคเรียนที่ 1 / 2551
-  นักเรียนมีแก้วน้ำประจำตัว
-  ขอความร่วมมือแม่ค้าให้ขายน้ำหวานโดยตักใส่แก้วน้ำประจำตัวของนักเรียน
นักเรียนกินน้ำหวานแล้วทิ้งแก้วและถุงน้ำหวานเรี่ยราดโรงเรียนสกปรก เป็นโรงเรียนปลอดขยะไม่ได้
เน้นที่ตัวเด็กนักเรียน
จากแผนปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการทดลองดำเนินการในโรงเรียนซึ่งสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้โดยง่าย ผลการดำเนินการในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 ทำให้โรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อนมีปริมาณขยะแก้วน้ำพลาสติกลดลงจนไม่พบเลยตามลำดับ สนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะที่เหมาะสมนั้นจะต้องดำเนินการลดขยะ ณ แหล่งกำเนิด ทางโรงเรียนจึงทดลองใช้กระบวนการลดขยะแก้วน้ำพลาสติกขยายผลสู่การลดขยะถุงพลาสติกเริ่มจากโรงเรียนสู่ชุมชน
ขยายสู่ชุมชน
โรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อนเป็นแกนกลางในการสร้างกระบวนการระดมความคิดร่วมกับชุมชนใกล้เคียงคือ บ้านโป่งน้ำร้อน ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ตามขั้นตอนของ FILA ดังแสดงในตารางที่ 2
ตารางที่ 2 FILA การลดขยะพลาสติกจากโรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อนขยายผลสู่ชุมชน (ทดลองปฏิบัติการ)
ข้อมูล/ข้อเท็จจริง
(Facts)
แนวคิด/ความคิดเห็น
(Ideas)
สิ่งที่อยากรู้
(Learning issues)
แผนปฏิบัติการ
(Action plans)
ตำบลป่าตึงไม่มีที่ทิ้งขยะชาวบ้านต้องจัดการขยะกันเองโดยส่วนใหญ่ใช้การเผาทำลาย
ทดลองลดขยะถุงพลาสติกจากโรงเรียนแล้วเชื่อมโยงสู่ชุมชน
รูปแบบการลดขยะพลาสติกทำได้อย่างไร
นับปริมาณขยะพลาสติกในโรงเรียนและชุมชน
โรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อนลดขยะแก้วน้ำพลาสติกได้ซึ่งเป็นการลดขยะ ณ แหล่งกำเนิด
เน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลการลดขยะ
ใช้กระบวนการพูดคุยเพื่อระดมความคิดในการลดขยะทั้งในโรงเรียนและชุมชน
ขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในการจัดการขยะ

เริ่มจากโรงเรียนแล้วขยายผลสู่วัดและบ้านโป่งน้ำร้อนซอย 1 (บ้านผู้ใหญ่บ้าน)
ชุมชนบ้านโป่งน้ำร้อนให้ความร่วมมือกับโรงเรียนดี มีความเป็นไปได้หากดำเนินโครงงาน

          ผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการพบว่า โรงเรียนและชุมชนบ้านโป่งน้ำร้อนมีแนวโน้มปริมาณขยะพลาสติกลดลงจากเกือบ 600 ชิ้นต่อวัน จนเหลือประมาณ 100 ชิ้นต่อวัน ดังแสดงในภาพ

สรุปได้ว่า กระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานแบบ FILA ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจากภายในสู่ภายนอก ตั้งแต่ความตระหนักถึงปัญหา ที่นำมาสู่การหาทางจัดการหรือแก้ปัญหาด้วยตนเอง ไปสู่ขั้นตอนที่สำคัญคือการลงมือปฏิบัติเริ่มจากเล็ก ๆ ไปสู่ระดับที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับ โดยมีวิทยากรกระบวนการเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษา และเติมเต็มแนวคิดตามความเหมาะสม
16 มิถุนายน 2554
17:29 ณ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง


เริ่มจากโรงเรียน (ผอ.ครูและนักเรียนแกนนำ) มุ่งมั่นจัดการกับปัญหา
                                             

ขยายสู่ชุมชนเริ่มจากวัดซึ่งเป็ฯศูนย์กลางของชุมชน


ขยายสู่ชุมชน ระดับครัวเรือนนำร่อง
ติดตามปริมาณอย่างต่อเนื่อง




Facilitator1: ทำความรู้จักกับวิทยากรกระบวนการ

"Facilitator โดยทั่วไปมีความว่า วิทยากรกระบวนการ หรือ ผู้อำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรม กระบวนการ"
ตัวผมเองก้าวเข้าสู่ การเป็นวิทยากรกระบวนการโดยธรรมชาติตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 ในภารกิจการสร้างกระบวนการชุมชนเข้มแข็งด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน มีหน่วนงานหลักที่รับผิดชอบในการดำเนินการคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และตัวผมเองที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยซึ่งในขณะนั้นผมยอมรับว่า ผมยังไม่รู้จัก คำว่า วิทยากรกระบวนการ ด้วยซ้ำไป
ผมมารู้จักและเข้าใจคำว่า วิทยากรกระบวนการ ดีขึ้นภายหลังจากการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ การวิจัยเพื่อท้องถิ่น สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งได้ร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างชุมชนพึ่งตนเองด้านอาหาร(คน,สัตว์) และพลังงาน ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ในปี พ.ศ. 2549 - 2551 ตรงนี้เองที่ผมเริ่มเข้าใจว่า วิทยากรกระบวนการ คือใครและทำหน้าที่อย่างไร (ขณะนั้นผมก็กลายเป็นวิทยากรกระบวนการไปแล้วโดยไม่รู้ตัว)
ภายหลังจากการเรียนรู้และฝึกฝนตนเองในการเป็น "คนทำงานกับชุมชนและสังคม" มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทของการเป็น Facilitator หรือ วิทยากรกระบวนการ คือการใช้ความพยายามใน การสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการ "ระเบิดจากข้างใน" ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า วิทยากรกระบวนการ ต้องพยายามเป็นตัวขับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (ผมเรียกว่า Change Agent)จากภายในสู่ภายนอกให้ได้ ซึ่งไม่ได้มีความหมายเพียงการเป็นผู้นำประชุม หรือคนชวนคุยและบันทึกในการประชุมแต่ละครั้งเท่านั้น แต่หมายถึง ความพยายามในการสร้างการไว้เนื้อเชื่อใจ ทั้งในระยะยาวแบบฝังตัวและขณะฉับพลัน เพื่อนำไปสู่ การถอดหัวใจมา กองไว้ตรงกลางแล้วเริ่มกระบวนการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแต่ละเรื่องอย่างเฉพาะเจาะจง ถึงกระนั้น "ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการต้องเป็นเสมือนจอมยุทธที่มีกระบี่ที่อยู่ข้างหลังมากมาย ซึ่งต้องมีความนิ่งภายในสูงพอที่จะรู้ว่า เวลาใดควรจะดึงกระบี่เล่มใดออกมาใช้กับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า" (นิติศักดิ์ โตนิติ อดีตผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสำนักงานโหนดแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่) วิทยากรกระบวนการจึงต้องเรียนรู้ที่จะปรับใช้วิธีการดำเนินกระบวนการให้สอดคล้องเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ผลที่ออกมาเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย

16 มิถุนายน 2554
14:13 น. อ.เมือง จ.ลำปาง